โรคแพนิก (Panic Disorder)
ลักษณะอาการของโรคแพนิค (Panic Disorder) ซึ่งควรได้รับการดูแลในเรื่องของการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมเป็นหลักโดยปกติแล้วสมองจะสั่งการให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งต่างๆใน 2 ลักษณะ คือ
1. การสั่งการที่เราควบคุมได้ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ
2. การสั่งการที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งมาจากการทำงานของ ระบบประสาทอัตโนมัติ เพื่อตอบสนองต่อปัจจัยสภาพแวดล้อมในแต่ละช่วงเวลา ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราตื่นเต้น หรือตกใจ เช่น พบเห็นอุบัติเหตุรถชนกันตรงหน้า ระบบประสาทอัตโนมัติจะทำงานและสั่งการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ
โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือที่รู้จักในชื่อ โรคตื่นตระหนก เป็นอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงโดยปราศจากสิ่งเร้า สาเหตุเกิดจากการมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้สารเคมีในสมองขาดสมดุลจนส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เมื่อระบบประสาทอัตโนมัติทำงานบกพร่อง ร่างกายจึงรับคำสั่งที่ผิดพลาดและมีการตอบสนองโดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆมากระตุ้น หรือไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ให้สัมพันธ์กับสภาวะ
ที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งมักแสดงออกโดยมีลักษณะอาการประกอบกัน ดังนี้
1. มีความรู้สึกกลัว วิตกกังวล กระวนกระวายใจ ตื่นตระหนกตกใจขึ้นมาทันทีทันใดโดยไม่มีสาเหตุ
2. รู้สึกอ่อนแรง ตัวเบาหวิว วูบวาบจะเป็นลม เหงื่อออก ตัวสั่น รู้สึกเย็นหรือชาตามมือและเท้า
3. วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อยากอาเจียน ปวดมวนท้อง รู้สึกอึดอัดจนขยับตัว แขนและขาได้ลำบาก
4. มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หายใจไม่ทั่วท้อง ร่วมกับอาการใจสั่น อัตราการเต้นของหัวใจเร็วและแรง รู้สึกวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือหัวใจวาย รู้สึกกลัวสุดขีดว่าตัวเองกำลังจะตาย
5. มีระยะเวลาการเกิดอาการโดยประมาณตั้งแต่ 10-30 นาที และสามารถเกิดขึ้นซํ้าอีกเมื่อไรก็ได้
6. เกิดความรู้สึกกลัวและวิตกกังวลว่าจะมีอาการขึ้นอีก จึงพยายามหาสาเหตุจนทำให้กลัวและพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่คิดว่าเป็นสาเหตุ เช่น การขับรถ การขึ้นลิฟท์ หรือแม้กระทั่งกลัวตาย ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตตามปกติ
7. เกิดความรู้สึกกลัวและวิตกกังวลมากขึ้นไปอีกเมื่อไม่สามารถหาได้ว่าอาการเกิดจากอะไร ยิ่งรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง ตกอยู่ในภาวะหดหู่และซึมเศร้า
เมื่อมีลักษณะอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นและสงสัยว่าอาจเป็นโรคแพนิคนี้ สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือ การไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพราะถึงแม้ว่าโรคแพนิคจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของโรคนั้นไปสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นค่อนข้างมาก เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดหัวใจและหัวใจวายเฉียบพลัน หรือแม้แต่อาการของโรคซึมเศร้า หากไม่พบปัญหาสุขภาพด้านอื่นก็วางใจได้ว่าจะสามารถดูแลตัวเองให้อาการทุเลาลงได้
สำหรับการดูแลอาการของโรคนั้น นอกจากรับยาตามความรุนแรงของอาการภายใต้การดูแลของแพทย์แล้ว วิธีการที่ได้ผลดีอีกทางหนึ่งคือการใส่ใจดูแลรักษาสภาพจิตใจ การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของตัวเราเองเป็นสำคัญ เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้สารเคมีในสมองขาดสมดุลและระบบประสาทอัตโนมัติทำงานบกพร่องนั้น โดยมากเป็นผลมาจากปัจจัยด้านสภาพจิตใจ รูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ก่อความเครียดสะสมของคนในปัจจุบัน รวมถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเป็นหลัก
พฤติกรรมที่ควรปรับเปลี่ยนและหลีกเลี่ยงคือ การใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเร่งรีบ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอและรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป ควรดูแลรักษาสภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงด้วยการจัดสรรเวลาให้กับการออกกำลังกายและการพักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญควรอยู่ห่างไกลจากการพนันและยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เนื่องจากความเครียดสะสมจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการใช้สารเสพติดล้วนมีผลโดยตรงต่อการสร้างสมดุลของสารเคมีในสมอง
นอกจากนี้ ให้พยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตกกังวลทั้งหลายที่ติดอยู่ในจิตใจตัวเอง ทั้งปัญหาครอบครัว ปัญหาทางการเงิน ขาดความมั่นใจในตัวเอง หรือปมในอดีตที่ยังฝังอยู่ในใจ โดยการออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ใหม่ๆ การร่วมกลุ่มหรือชมรมที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือทำอาชีพเสริมยามว่าง การทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ หรือการใช้เวลานั่งผ่อนคลายอิริยาบถและกำหนดลมหายใจเข้าออกเพื่อฝึกสมาธิอย่างสมํ่าเสมอ
จะเห็นได้ว่านับวันโรคภัยไข้เจ็บยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นทุกที หากสงสัยว่ามีอาการเจ็บป่วยตามที่กล่าวมานั้นก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราห่างไกลความเจ็บป่วยจากโรคแพนิคคือ การดูแลจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งมีความสุขกับทุกวันและดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม